Steam รีวิวเกม

(รีวิวเกมออฟไลน์) I am Alive : เอาตัวรอดในโลกหลังหายนะ

I am Alive เป็นเกมชื่อดังจากฝั่งคอนโซลซึ่งได้พอร์ทเอามาให้ทางฝั่ง PC ได้เอามาเล่นกันบ้าง จริงๆ แล้วตัวเกมมีอุปสรรคหลายอย่างมาก ตั้งแต่โดนตัดงบไปจนถึงการเปลี่ยนคอนเชปเกมไปจากเดิมที่โปรโมทครั้งแรก ทำให้ตัวเกมดาวเกรดคุณภาพลงไปจนน่าเสียดาย แต่ตัวเกมก็ยังมอบความบันเทิงและความคุ้มค่าในการเล่นสูงครับ

I am Alive นั้นเป็นเรื่องราวของ อดัม ชายหนุ่มที่เดินทางกลับไปยังบ้านเกิดภายหลังเกิดเหตุการณ์หายนะแผ่นดินไหว ขนาด 10.5 ริกเตอร์มาแล้ว 1 ปี (ข้อมูลดั้งเดิมของตัวเกมแจ้งว่าหายนะเกิดจากแผ่นดินไหว) ซึ่งทั้งเมืองเหลือแต่ซากปรักหักพัง จุดประสงค์ของเขาก็คือ ตามหาภรรยาและลูกสาวของเขา และเขาต้องเอาตัวรอดจากเมืองที่เหลือรอดจากเหตุการหายนะนี้ให้ได้

ตัวเกมนั้นได้รับความสนใจอย่างมากเมื่อตอนที่ตัว เกมถูกประกาศมาช่วงแรกๆ ทั้งระบบการเล่นและเนื้อเรื่องยิ่งใหญ่ระดับภาพยนต์วันสิ้นโลก แต่ทว่า ด้วยการที่ตัวเกมถูกตัดงบ จึงทำให้ตัวเกมนั้นถูกพัฒนามาเป็นเพียงแค่ “เกมๆ หนึ่ง” เท่านั้น ตัวเกมยังขาดอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างมากๆ ซึ่งทางเราจะกล่าวถึงในภายหลัง แต่มาดูกันในส่วนของเนื้อเรื่องกันก่อน

จุดเด่นของเกม I am Alive ก็คือสภาพแวดล้อมของตัวเกมมันสื่อถึงโลกหลังหายนะออกมาได้น่าสะพรึงกลัว , อ้างว้าง และแอบหลอนนิดหน่อย มันทำให้คนเล่นรู้สึกอินกับบรรยากาศตัวเกม และเกิดความสงสัยอยากรู้ถึงที่มาที่ไปของเนื้อเรื่อง ตัวเอกทำไมหายไปตั้ง 1 ปี ? มันเกิดเหตุหายนะอะไรขึ้น ? รัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ ? แล้วประเทศอื่นๆ ทั่วโลกหละ เป็นอย่างไรบ้าง ?

แต่เปล่าเลย ตัวเกมได้มีการบอกเนื้อเรื่องผ่านบทสนทนาของตัวละครหลักและ NPC มาบ้าง แต่ไม่ได้มีการบอกรายละเอียดที่คนเล่นต้องการครบถ้วน ทำให้เกิดความสงสัยเต็มไปหมด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ I am Alive ไม่ผ่านเกมที่มีเนื้อเรื่องระดับขึ้นหิ้ง และเนื้อเรื่องยังมีอะไรต่อมิอะไรให้สงสัยกันอีกเพียบ เป็นจุดอ่อนที่ทำให้คนเล่นที่ชอบเสพเนื้อเรื่องอาจไม่ชอบใจเท่าที่ควร

ระบบการเล่นนั้นจะเป็นมุมมองบุคคลที่สาม มองผ่านหลังตัวเอก หรือแนว TPS โดยคนเล่นจะต้องบังคับอดัมในการปีนป่ายตามซากปรักหักพังและตามตึกต่างๆ ในเมืองเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ โดยการเล่นเกมนั้นมีการปีนป่ายเยอะมากๆ จนแอบคิดเหมือนกันว่ามันเป็นเกมปีนตึกรึเปล่า แต่เป็นจุดเด่นของเกมนี้ที่คนเล่นไม่สามารถหาได้ง่ายๆ จากเกมอื่นเลยทีเดียว

เพราะว่าการปีนตึกต่างๆ นั้นตัวเกมได้มอบประสบการณ์ความระทึกใจและความหวาดเสียวที่มีต่อความสูงยัง เบื้องล่าง ซึ่งจะทำให้คนเล่นติดหนึบอยู่กับหน้าจอเพื่อให้การเล่นผ่าน การออกแบบการปีนตึกต่างๆ ทำออกมาได้เยี่ยมยอดเลยทีเดียว ซึ่งต้องขอชมทีมพัฒนาเกมจาก Ubisoft สาขาเซียงไฮ ที่พัฒนาเกมเพลออกมาได้ดีเลิศ

ในเกมนี้จะเน้นการเอาตัวรอดแบบสมจริง ไม่มีสัตว์ประหลาด ไม่มีพลังพิเศษ ไม่มีเวทมนต์ ศัตรูที่คนเล่นจะเจอจะเป็นคนธรรมดาๆ ที่คิดจะมาหาเรื่องเรา โดยคนเล่นก็ไมได้มีความสามารถที่ซัดกับศัตรูได้หลายๆ คน คนเล่นจะต้องอาศัยความอดทนและวิธีการหลอกล่ออีกฝ่ายเพื่อจัดการเข้าทีละคน เอาง่ายๆ ตัวเกมนั้นคนเล่นจะมีปืน แต่ไม่มีกระสุนเลยแม้แต่นัดเดียว

จึงทำให้คนเล่นสามารถหลอกล่ออีกฝ่ายได้ว่าตูมีปืน นะเว้ย อย่าเข้ามานะไอ้สลัด อะไรประมาณนี้ (แต่ถ้าเผลอยิง อีกฝ่ายก็จะรู้ว่าเราไม่มีกระสุน จะมาตื๊บเราอีกที) อารมณ์การเล่นจึงคล้ายกับภาพยนต์เรื่อง The Road เลยทีเดียว (ตัวเอกในหนังมีกระสุนเพียงนัดเดียวเท่านั้น) การเจอศัตรูในเกมมากกว่า 3 คนเป็นอะไรที่ตึงเครียดสุดๆ เพราะถ้าอีกฝ่ายมีปืน นัดสองนัดเราก็เดี้ยง แต่ถ้าโดนรุมฟาด เราก็เดี้ยงอยู่ดี แถมกระสุนในเกมนี้เป็นอะไรที่หายากมากๆ ต้องเซฟสุดๆ

เกมเพลในเกมนี้จึงออกแบบมาสำหรับคนเล่นที่มีความอด ทนและไม่ผลีผลาม และบ่งบอกถึงการที่คนเล่นจะต้อง “เอาชีวิตให้รอด” อย่างแท้จริง และก็ชวนคิดเหมือนกันว่าถ้าโลกเราเกิดหายนะอย่างนี้จริงๆ จิตใจของคนจะเป็นอย่างไร ทว่า ตัวเกมกลับมีการเดินเป็นเส้นตรง คนเล่นไม่สามารถช่วยเหลือตัวร้ายหรือแอบย่องหนีโดยไม่ทำอะไรพวกมันได้เลย (มีไม่กี่ทีเท่านั้น ส่วนใหญ่บังคับให้ต้องเผชิญ) ถ้าเจอฝ่ายร้ายยังไงก็ต้องฆ่าอย่างเดียว

ส่วนตัวคนเขียนแล้ว นี่เป็นอีกเรื่องที่ค่อนข้างเลวร้าย เพราะตัวร้ายในเกมนี้แม้ว่าหน้าตาจะเหมือนกันเสียจนยังกับแฝดร้อยคน แต่หน้าตาบางคนกลับดูเหมือนคนดีที่ประมาณถูกบังคับให้ทำเลวซะงั้น บางครั้งคนที่ถูกเราฆ่าถามก่อนตายว่า “ทำไมต้องฆ่าเราด้วย” มันทำให้คิดเหมือนกันว่า ทำไมเราช่วยเหลือเขาไม่ได้ ซึ่งหากทำได้ ตัวเกมจะมีคุณค่าในการวัดระดับจิตใจคนเล่นมากกว่านี้

นอกจากนี้ ยังมีผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ ที่เราต้องเสียสละไอเท็มในการช่วยเหลือ (ไอเท็มในเกมนี้หาได้ยากและจำเป็นมาก การช่วยเหลือคนอื่นจะเท่ากับเราเล่นได้ยากขึ้น) ซึ่งในความยากระดับ Normal เราจะได้รับไอเท็ม Retry ในการฟื้นคืนชีพได้หากตาย แต่ทว่า เมื่อจบเกม NPC ที่เราช่วยเหลือนั้นกลับหายไปเลยไม่มีโผล่มาตอนจบ

ความกรวงของเกมยังมีอีก นอกจากศัตรูในเกมจะหน้าตาเหมือนกันแล้ว ท่าทางแอนิเมชั่นยังไม่เป็นธรรมชาติ (มีแต่ตัวเอกและตัวละครหลักไม่กี่คนที่เป็นผู้เป็นคนบ้าง) และดำเนินตามสคริปเป๊ะราวกับหุ่นยนต์ และไม่สื่อให้ถึงความสมจริงเลยแม้แต่น้อย แสดงให้เห็นถึงการเผางานและเป็นเกมที่ทุนสร้างไม่สูง ทำให้การมีอารมณ์ร่วมในเกมนี้ถึงกับหดหายไปเลยทีเดียว

ที่ดีหน่อยคือระบบเสียง เพลงประกอบและเสียงพากษ์ตัวละครเป็นอะไรที่เข้ากันมากๆ เกมจึงน่าเล่นก็อยู่ที่ตรงนี้ เสียงพากษ์ตัวละครมีชีวิตชีวาและสื่อถึงอารมณ์ของตัวละครนั้นๆ ถ้าไม่นับเรื่องหน้าตาตัวละครที่ขยับแบบหุ่นยนต์แล้วหละก็ เสียงพากษ์เนี่ยแหละที่ทำให้คนเล่นสนุกสนานกับการเล่นไปกับเกมนี้

ทว่า หากมองข้ามข้อเสียต่างๆ ไปแล้ว เกม I am Alive นับได้ว่าเป็นเกมที่เปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับคำนิยามของโลกหลังหายนะ ความระทึกใจตอนปีนป่ายซากตึกต่างๆ ที่ชวนหวาดเสียว และอารมณ์การเล่นที่อ้างว้างและการเอาชีวิตรอดที่สมจริง จึงทำให้เกม I am Alive จะเป็นเกมที่คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์สำหรับคนที่ชื่นชอบแนวโลกหลังหายนะและคน ที่ชื่นชอบเกมที่ถ่ายทอดสภาพแวดล้อมออกมาได้อย่างเต็มที่ครับ

จุดเด่น
– สภาพแวดล้อมโลกหลังหายนะที่ถ่ายทอดออกมาได้สมจริง
– เกมเพลที่โดดเด่น โดยเฉพาะการปีนป่ายตามตึกสูงและการปะทะกับศัตรูในเกม
– รายละเอียดฉากทำออกมาได้ละเอียด ถึงจะเล่นแสงมากไปหน่อยก็ตาม
– เสียงพากษ์และเพลงประกอบที่้เข้ากับบรรยากาศของเกม
– สามารถเก็บไฟล์เซฟเกมได้ โดยไฟล์เซฟเกมอยู่ใน Documents\IAmAlive

ข้อด้อย
– เกมถูกตัดงบ อะไรๆ จึงดรอปลงไปมาก น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
– NPC โคลนนิ่ง กับการเคลื่อนไหวแบบหุ่นยนต์ตามสคริป เป็นอะไรที่ชวนหลอนและแสดงให้เห็นถึงการเผางาน
– ดำเนินเนื้อเรื่องเส้นตรง คนเล่นไม่มีสิทธิเลือกอะไรเลย
– เนื้อเรื่องทิ้งคำถามเป็นสิบ แต่ไม่มีคำตอบมาให้คนเล่นทราบแม้ว่าจะเล่นจบเกมแล้วก็ตาม
– เกมสั้นไปนิด จบง่ายไปหน่อย และขาดความสมเหตุสมผล โดยเฉพาะความเหนื่อยของตัวเอก
– เกมมีรายละเอียดสูงมาก ทำให้คอมสเปคตํ่าเล่นไม่ได้ CPU ต้องระดับ 2 Core ขึ้นไปเท่านั้น และปรับได้แค่ขนาดหน้าจอเท่านั้นด้วย (สเปคขั้นตํ่าที่บอกว่า P4 เล่นได้นะ อย่าไปเชื่อ!)

เกม I am Alive มีวางขายแล้วบน Steam ในราคา 525 บาท

ลิ้งหน้าร้านค้า > http://store.steampowered.com/app/214250/

Leave a comment